เด็กท้องเสีย หรือมีอาการท้องร่วง มักพบได้บ่อย ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แพทย์มักทำการรักษาตามอาการ และเริ่มมีการนำโพรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์ที่พบได้ตามปกติในลำไส้มาใช้ในการรักษาโรคท้องเสีย ทั้งอาหารเป็นพิษ ไวรัส แบคทีเรีย รวมถึงท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าจุลินทรีย์เหล่านี้ช่วยลด และทำให้อาการท้องเสียดีขึ้นได้เร็วขึ้นกว่าการรักษาตามอาการ และยังมีความปลอดภัยอีกด้วย
เด็กท้องเสีย เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่เปราะบาง และมีภูมิคุ้มกันที่ยังไม่แข็งแรงมากเท่าวัยผู้ใหญ่ ทำให้พ่อแม่หลายคนที่กังวลเรื่องสุขอนามัยก็มักจะดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี ก่อนจะมาสัมผัสตัวลูกหรือป้อนอาหารลูก เพราะเกรงว่าลูกจะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสียได้
เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับพ่อแม่ทั่วไปในการดูแลและป้องกันปัญหาท้องเสียท้องร่วงในเด็ก เราจึงได้รวบรวมสาระดี ๆ เกี่ยวกับ อาการท้องเสียในเด็ก มาฝากกันค่ะ
เด็กท้องเสีย คืออะไร มีอาการอย่างไร
อาการท้องเสีย ตามหลักการแพทย์ คือ มีการถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวัน ส่วนกรณีที่ถ่ายปริมาณมากในหนึ่งครึ่ง หรือถ่ายเหลวมีมูกปนหนึ่งครั้งก็ถือว่า เป็นอาการถ่ายเหลวเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เด็กกินนมแม่ อาจถ่ายเหลวได้วันละ 5 – 10 ครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ต้องดูอาการอื่น ๆ ของลูกด้วยว่า มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่
เด็กท้องเสีย อาการแบบไหน ควรรีบพาไปพบแพทย์
- ถ่ายเหลวมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
- ถ่ายเป็นมูกหรือมูกเลือด
- มีไข้สูงหรือชัก อาเจียนบ่อย ริมฝีปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยหอบ
- ไม่ยอมทานนมและอาหาร
- ดื่มน้ำเกลือแร่แล้วยังอ่อนเพลียหรือซึมอยู่
- ปัสสาวะน้อยมีสีเข้ม
- มีภาวะขาดน้ำ เช่น กระหม่อมบุ๋ม เบ้าตาลึก ซึมลง ปัสสาวะน้อย
- ท้องเสียเป็นยาวนานกว่า 3 วัน และเป็นน้ำ มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว และก้นเริ่มแดง
สาเหตุที่ทำให้ ลูกท้องเสีย
โรคท้องเสียที่พบในเด็กมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้บ่อย คือ โรต้าไวรัส โนโรไวรัส และอะดีโนไวรัส ส่วนสาเหตุรองลงมาจะท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อปรสิต อาหารเป็นพิษ เนื่องมาจากสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนมาในอาหาร หรือสารพิษที่เกิดขึ้นจากการสร้างขึ้นของเชื้อแบคทีเรียเอง นอกจากนี้ท้องเสียยังอาจเกิดจากการได้รับยาบางชนิดได้อีกด้วย
ไม่อยากให้ ลูกท้องเสีย ป้องกันอย่างไร
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้ลูกมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง
- ให้ลูกทานอาหารปรุงสุก สดใหม่ สะอาด และไม่มีแมลงวันตอม
- หากจะเก็บอาหาร ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และอุ่นร้อนก่อนให้เด็กรับประทานทุกครั้ง
- ผักสดหรือผลไม้ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนให้เด็กรับประทาน
- กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
- ถ่ายอุจจาระให้ถูกสุขลักษณะ
- ผู้ดูแลเด็กควรล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร รวมทั้งก่อนและหลังจากการใช้ห้องน้ำ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
- สอนเด็ก ๆ ให้รู้จักล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ
- ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งการพาลูกรักเข้ารับวัคซีนชนิดนี้ สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
- ทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับสมดุลลำไส้ มีระบบขับถ่ายที่เป็นปกติ และยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น
วิธีรับมือเมื่อลูกท้องเสีย
แพทย์จะประเมินเด็กจากภาวะขาดน้ำ เพื่อให้สารน้ำทดแทน และให้ยารักษาตามอาการ ในกรณีที่เด็กยังสามารถรับประทานได้ สามารถให้ยาผงเกลือแร่กลับไปรับประทานที่บ้านได้ แต่ถ้าเด็กอาเจียนมาก หรือมีภาวะขาดน้ำระดับปานกลางถึงมาก แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เพื่อรักษาภาวะขาดน้ำ และปรับสมดุลเกลือแร่ในเลือด กรณีที่เด็กมีไข้ แพทย์อาจให้ทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ควบคู่กับการเช็ดตัว ถ้าอาเจียนให้รับประทานยาแก้อาเจียน ถ้ามีอาการปวดท้อง ปวดบิด ปวดบีบ ให้ทานยาลดการบีบตัวของลำไส้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ตามคลินิก หรือโรงพยาบาล นอกจากการให้ยาและเกลือแร่เพื่อรักษาแล้ว แพทย์ในปัจจุบันก็นิยมให้โพรไบโอติกส์ในการรักษาร่วมด้วย ซึ่งทางการแพทย์ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับโพรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์สุขภาพว่า สามารถช่วยปรับสมดุลของทางเดินอาหาร ลำไส้ โดยถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคท้องเสียจากทั้งอาหารเป็นพิษ ไวรัส แบคทีเรีย รวมถึงท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าจุลินทรีย์เหล่านี้ช่วยลดและทำให้อาการท้องเสียดีขึ้นได้เร็วขึ้นกว่าการรักษาตามอาการ และยังมีความปลอดภัยอีกด้วย
โพรไบโอติกส์ ในอาหารเสริมสำหรับเด็ก ช่วยสร้างสมดุลที่ดีของลำไส้ ป้องกันท้องเสียในเด็ก
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์สุขภาพที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่จะมีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรค สร้างเกราะป้องกันร่างกายที่แข็งแกร่งในลำไส้ ทำให้เด็กมีระบบขับถ่ายที่เป็นปกติ อีกทั้งยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย โดยโพรไบโอติกส์ในรูปแบบของอาหารเสริมที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน และยังช่วยปรับสมดุลในลำไส้ หลัก ๆ จะมี 5 ชนิด คือ
- Bifidobacterium infantis (บิฟิโดแบคทีเรียม อินแฟนติส) พบได้มากในลำไส้ของทารกแรกเกิด มีประโยชน์อย่างมากต่อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลูกรักให้แข็งแรง และจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อมี HMOs เป็นอาหาร ซึ่ง HMOs เป็นพรีไบโอติกที่พบในนมแม่ มีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนและเสริมประสิทธิภาพของ บิฟิโดแบคทีเรียม อินแฟนติส ได้ดีขึ้น
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Bifidobacterium infantis (บิฟิโดแบคทีเรียม อินแฟนติส)
- Bifidobacterium lactis (บิฟิโดแบคทีเรียม แล็กติส) ไม่เพียงช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ยังช่วยย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหาร และป้องกันสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิดโรค ทั้งยังช่วยป้องกันและบรรเทาอาการจุกเสียด ท้องผูก ลำไส้แปรปรวน ท้องร่วง และอื่น ๆ อีกมากมาย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Bifidobacterium lactis (บิฟิโดแบคทีเรียม แล็กติส)
- Lactobacillus plantarum (แลคโตบาซิลลัส แพลนทารัม) เป็นโพรไบโอติกอีกชนิดที่ไม่เพียงโดดเด่นเรื่องเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ยังช่วยลดการติดเชื้อ เนื่องจากตัวเชื้อจะไปยึดเกาะผนังของลำไส้ได้อย่างดี ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อโรคไม่ให้แทรกซึมเข้ามา สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตในลำไส้ ลดความเสี่ยงโรคทางเดินอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Lactobacillus plantarum (แลคโตบาซิลลัส แพลนทารัม)
- Bacillus coagulans (บาซิลลัส โคแอกกูแลน) โพรไบโอติกชนิดนี้โดดเด่นเรื่องป้องกันอาการท้องผูก ท้องเสีย รวมถึงโรคลำไส้แปรปรวน ทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่ทนต่อความร้อน เจริญเติบโตอยู่ในลำไส้ และมีอายุยืนกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ จึงนิยมถูกนำมาใช้เป็นอาหารเสริม
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Bacillus coagulans (บาซิลลัส โคแอกกูแลน)
- Lactobacillus acidophilus (แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลลัส) ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ไม่พึงประสงค์ในลำไส้ เด็กจะไม่ค่อยมีอาการท้องไส้แปรปรวน ลดการเกิดท้องเสีย หรือติดเชื้อจากไวรัสต่าง ๆ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Lactobacillus acidophilus (แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลลัส)
ไม่เพียงแค่โพรไบโอติกส์ทั้ง 5 ชนิดนี้เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเสริมสารอาหารชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ลูกแข็งแรงไม่ป่วยง่าย และทำงานร่วมกับโพรไบโอติกส์ได้ดี เช่น ผลไม้มหัศจรรย์อย่างเอลเดอร์เบอร์รี่ ที่มีสรรพคุณในการยับยั้งเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับ เบต้ากลูแคน Beta-glucan (Wellmune) ที่เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เพื่อให้เด็กรับประทานง่ายยิ่งขึ้น ควรเลือกรูปแบบของอาหารเสริมที่มีความน่าสนใจและทานง่าย เช่น อาหารเสริมรูปแบบผงกรอกปากหรือแบบผงชงน้ำน้อยจะสะดวกที่สุดสำหรับเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตที่เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองก็มักจะมีพฤติกรรมเลือกรับประทานอาหาร จึงทำให้มีแนวโฯ้มขาดสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ ดังนั้น อาหารเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กวัยนี้ ควรเป็นรูปแบบเยลลี่ที่คล้ายขนม และรสชาติถูกปาก เด็ก ๆ จะยอมรับประทานอย่างง่ายดาย และได้รับประโยชน์ในทุก ๆ วัน