ภาพที่เห็นกันบ่อย ๆ คือพวกเราก็จะรีบเข้าไปห้าม รีบเข้าไปตัดสินว่าใครผิดใครถูก … บางทีตัดสินไปแล้ว ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัดสินถูกมั้ย แถมบางเรื่องลูก ๆ ก็ทะเลาะกันซ้ำซาก สอนไม่จำเลย
สาเหตุที่ เด็กๆทะเลาะกันซ้ำซากและแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนหนึ่ง เพราะผู้ใหญ่รีบเข้าไปช่วยแก้แบบไม่มีหลักการ และไม่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ฝึกเจรจากันเอง ปัญหาที่จบลงวันนี้ จึงพร้อมเกิดใหม่วันหน้า และอาจจะรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะเด็ก ๆ ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง
ดังนั้น แทนที่จะตกใจเวลาเห็นเด็ก ๆ ทะเลาะกัน หมออยากชวนมองวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อฝึกเค้าเป็นเด็กฉลาดดีลกับความขัดแย้งให้ได้ … หากเห็นลูกทะเลาะกันครั้งหน้า ให้ทำตาม 6 ขั้นตอนนี้กันค่ะ
-
1. เดินมาให้ลูกเห็น
หากเริ่มได้ยินว่าลูกเถียงกัน ให้เราแค่เดินผ่านมาให้ลูกเห็นแว้บ ๆ แต่ไม่แทรกแซง ทำแบบนี้ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเราเห็นแล้ว แต่เราเลือกปล่อยให้เค้าจัดการกันเอง
-
2. เฝ้าสังเกต
หากเริ่มได้ยินว่าลูกเถียงกัน ให้เราแค่เดินผ่านมาให้ลูกเห็นแว้บ ๆ แต่ไม่แทรกแซง ทำแบบนี้ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเราเห็นแล้ว แต่เราเลือกปล่อยให้เค้าจัดการกันเอง
-
3. พูดเตือนกฎในบ้าน
หากเริ่มคุยกันแรง จับตัวกันแรง ให้เราพูดย้ำกฎในบ้าน เช่น “บ้านนี้เรา ไม่พูดคำหยาบใส่กันนะ” “เล่นแรงได้ถ้าทั้งสองฝ่ายยินยอมเท่านั้นนะ”
-
4. เข้าช่วยหากจำเป็น
ถ้าลูกเริ่มตกลงกันไม่ได้จริง ๆ ให้เราเข้าไปฟังความทั้งสองข้างอย่างไม่ตัดสิน ค่อย ๆ พูดสะท้อนมุมมองทีละคน ช่วยบรรยายให้ลูกเห็นปัญหาแบบง่าย ๆ แล้วถอยให้พวกเขาลองแก้ปัญหาเองอีกสักตั้ง เราอาจพูดแบบนี้ได้ค่ะ
“ดูเราสองคนจะโกรธกันมากแล้ว (รับรู้ความรู้สึกลูก) คือพี่อยากเล่นหุ่นยนต์ต่อ แต่น้องอยากเล่นแล้วเหมือนกัน (สะท้อนมุมมองของลูกทั้งคู่) มันก็ยากนะ ของเล่นชิ้นเดียว แต่มีคนอยากเล่นสองคน (บรรยายปัญหาเป็นคำพูดง่าย ๆ) แต่แม่มั่นใจว่าเราสองคนจะคิดวิธีเล่นได้ ลองดูนะ ทำยังไงให้สนุกทั้งคู่ และของเล่นก็ไม่พัง (ถอยออกมา)”
-
5. แยกลูกหากตีกัน
ถ้าตีกันหนัก ให้รีบจับแยกจากกันจนกว่าจะสงบ ให้ลูกอยู่กันคนละมุม และพูดอย่างเมตตาว่า “โกรธกันได้ แต่แม่ไม่อนุญาตให้ทำร้ายกัน” (แม้ลูกจะยังพูดไม่ได้ ก็ใช้วิธีนี้ได้เช่นกันค่ะ)
-
6. เด็กฉลาดจะแก้ปัญหา
เมื่อลูกสงบลงแล้ว ค่อยมาคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยกัน โดยถ้าหากลูกยังเล็ก เราอาจช่วยเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ และสิ่งนี้จะกลายเป็นกติกาในบ้าน ที่เด็ก ๆ จะเรียนรู้เมื่อทะเลาะกันครั้งต่อไป
จะเห็นได้ว่า 3 ขั้นตอนแรก เราเน้นสังเกตเท่านั้น และเราจะลงมือช่วยจริง ๆ เมื่อลูกแก้ปัญหาเองไม่ได้แล้ว เพราะการปล่อยให้ลูกได้ลงมือพูดคุย เป็นโอกาสที่ลูกจะได้ฝึกเจรจาเมื่อคิดเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของเด็กฉลาดในการดำรงชีวิตนะคะ
ลองฝึกใช้ 6 ขั้นตอนนี้ เพื่อให้การทะเลาะกันทุกครั้งเป็นบทเรียนที่มีค่า แล้วคุณจะได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของลูก ๆ แถมได้ชีวิตครอบครัวที่สงบขึ้นด้วยค่ะ!